Neo QLED TV คืออะไร? มีอะไรที่ดีกว่าทีวีทั่วไป? เมื่อวันที่ 6 ม.ค. หลายคนน่าจะได้รับชม ถ่ายทอดสดเปิดตัวนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ทีวีและจอภาพของ Samsung ประจำปี 2021 กันไปแล้ว ซึ่งคีย์เวิร์ดสำคัญที่เรียกความน่าสนใจได้มากที่สุดคงไม่พ้นเทคโนโลยีจอภาพรูปแบบใหม่ที่ Samsung ใช้ชื่อเรียกว่า “Neo QLED TV”… บทความนี้จะมาคลายสงสัยกันว่า Neo QLED TV คืออะไร? และมันดีกว่าเดิมอย่างไร? Neo QLED TV คือ พัฒนาการล่าสุดของ LCD/LED TV ก่อนอื่นมาเท้าความหลังกันสักนิด เพื่อให้เห็นภาพรวมวิวัฒนาการของ LCD TV ที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร... ยุคบุกเบิก : LCD TV = LCD Panel + CCFL Backlight
เป็นยุคเปลี่ยนผ่านจากทีวีจอแก้วอ้วนๆสู่ทีวีจอแบน (บาง) ถึงแม้ก้าวแรกของ LCD TV จะยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เช่น ทำระดับความดำได้ไม่ดีนัก และมีค่า Response Time สูง ภาพเคลื่อนไหวเลยดูเบลอๆหน่อย แต่ด้วยขนาดจอภาพที่ทำได้ทั้งไซส์เล็ก ไซส์ใหญ่ เลือกได้หลากหลายตามงบประมาณ และใช้เป็นมอนิเตอร์ได้ด้วย (จอไม่เบิร์น) จึงได้รับความนิยมแพร่หลายมากกว่า Plasma TV คู่แข่งเวลานั้น ยุคที่ 2 : LED TV = LCD Panel + LED Backlight
LCD TV ยุคนี้ปรับเปลี่ยนไฟส่องด้านหลัง (Backlight) จากหลอด CCFL (Cold Cathode Fluorescent Lamp) เป็น LED (Light Emitting Diode) เลยเรียกติดปากกันมาถึงปัจจุบันว่า “LED TV” ซึ่ง LED Backlight นี้ มีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม ให้ความสว่างสูงขึ้นแต่กินไฟน้อยลง อีกทั้งขนาดหลอดไฟที่เล็ก โครงสร้าง Backlight เล็กลง ทำให้ติดตั้งที่บริเวณขอบจอได้ ช่วยให้จอทีวีบางลงมาก จนพูดได้เต็มปากว่า “ทีวีจอแบนบาง” อย่างแท้จริง! นอกจากนี้ LCD Panel ยังพัฒนาให้มีการตอบสนองดีขึ้น ค่า Input Lag และ Response Time ต่ำลง สามารถเล่นเกมได้ดีมากยิ่งขึ้น ยุคที่ 3 : QLED TV = Quantum Dot + LCD Panel + LED Backlight [Local dimming]
เริ่มก้าวสู่ยุคของ High Dynamic Range (HDR) ทีวีนอกจากต้องทำความสว่างสูงขึ้นแล้ว ยังต้องแสดงรายละเอียดสีสันมากขึ้นด้วย เหตุนี้เทคโนโลยี "Quantum Dot" จึงมีบทบาทที่เข้ามาส่งเสริมให้ LCD/LED TV สามารถถ่ายทอดสีสันได้ครอบคลุมมากขึ้นจนได้ขอบเขตสีกว้างแบบ "Wide Color Gamut" นั่นเอง และ LED Backlight ของ QLED TV รุ่นระดับสูง ยังพัฒนาให้สามารถควบคุมหรี่แสงเป็นโซนๆ ได้ การคุมแสงลอดดีขึ้น ได้ระดับความดำลึกขึ้น ส่วนความสว่าง HDR Peak Brightness ก็ทำได้เกิน 1,000 nits ยุคที่ 4 : Neo QLED TV = Quantum Dot + LCD Panel + Mini LED Backlight [Local dimming] Neo QLED TV ถือเป็นนวัตกรรมล่าสุดของ QLED TV หัวใจสำคัญของ Neo QLED TV คือ “Mini LED Backlight Technology” (หรือที่ Samsung ใช้ชื่อเรียกทางการตลาดว่า Quantum Mini LED) คำว่า Mini LED อาจทำให้สับสนกับ Micro LED อีกหนึ่งเทคโนโลยีจอภาพยุคใหม่ซึ่งใช้พื้นฐานแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง... โดยหลักการ Micro LED จะใช้หลอด LED ขนาดเล็ก 1 ชุด มี 3 หลอดแม่สี RGB = 1 พิกเซล กำเนิดแสงสีเพื่อสร้างภาพขึ้นมารับชมโดยตรง, ส่วน Mini LED จะทำหน้าที่ให้ความสว่าง (เป็น LED Backlight) เท่านั้น ซึ่งต้องติดตั้งใช้งานร่วมกับจอ LCD (Liquid Crystal Display) จุดที่พัฒนาขึ้นจาก LED Backlight เดิม คือ Mini LED Backlight ใช้หลอด LED ที่มีขนาดเล็กกว่า สามารถจัดวางได้ถี่ขึ้น เมื่อทำงานร่วมกับระบบประมวลผลที่มีประสิธิภาพสูงขึ้น Mini LED จะทำงานแบ่งโซนได้ละเอียดเป็นอิสระมากขึ้นกว่าเดิม และด้วยโครงสร้างที่บางกว่าเดิมถึง 40 เท่า! สามารถติดตั้ง Mini LED Backlight ได้แนบชิดเป็นหนึ่งเดียวกับ LCD Panel ไม่จำเป็นต้องใช้ Lens ครอบหลอดเพื่อช่วยกระจายแสงแบบเก่า เมื่อวางหลอดได้แนบสนิท และตัด Lens กระจายแสงออกไป จึงแก้ปัญหา Blooming หรืออาการแสงลอดเรืองๆ ตามขอบวัตถุ ภาพที่ได้จะดำลึก ให้คอนทราสต์สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้การควบคุมปรับเปลี่ยนระดับแสงของ Mini LED Backlight ยังทำได้ละเอียดถึง 12-bit หรือ 4096 ระดับ ส่งผลให้การไล่ระดับโทนแสง (มีส่วนเกี่ยวเนื่องไปถึงการให้ระดับโทนสี หรือ Color Bit Depth) ทำได้ละเอียดมากขึ้น และแน่นอนว่าการจัดวางหลอด LED ถี่ขึ้น จำนวนมากขึ้น ทำให้ได้ระดับความสว่างรวมที่สูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญให้การแสดงผลภาพแบบ HDR ดูเจิดจรัสมากขึ้น สรุป จะได้อะไรที่ดีขึ้นจาก Neo QLED TV (ที่มาพร้อม Mini LED Backlight) 1. การควบคุมระดับความดำทำได้เนียนละเอียดกว่าเดิม เนื่องด้วย Local dimming ของ Mini LED สามารถแบ่งโซนดิมแสงได้ละเอียดเที่ยงตรงมากขึ้น
2. การถ่ายทอดระดับแสง (และสี) เมื่อแสดงผล HDR เข้าใกล้อุดมคติมากขึ้น เนื่องจาก Mini LED ให้ส่วนที่สว่าง สว่างมากขึ้น และส่วนมืดก็ดำลึกลง โดยเฉพาะในสถานการณ์ซับซ้อน อย่างฉากกลางคืนที่มีรายละเอียดแสงไฟเล็กๆ
3. Mini LED น่าจะมีส่วนช่วยให้จอภาพมีขนาดบางสวยยิ่งกว่าเดิม (เมื่อเทียบกับ LED TV ที่ใช้เทคโนโลยี Full-array Local dimming LED Backlight เดิม)
ที่มา : https://www.lcdtvthailand.com/topic_detail.php?id=11409 > |